9 วิธีการควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้างให้อยู่หมัด ไม่บานปลาย ไม่ปวดหัว

Last updated: 18 ต.ค. 2565  |  4586 จำนวนผู้เข้าชม  | 

  9 วิธีการควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้างให้อยู่หมัด ไม่บานปลาย ไม่ปวดหัว

9 วิธีการควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้างให้อยู่หมัด ไม่บานปลาย ไม่ปวดหัว

          เป้าหมายหลักในการทำโครงการก่อสร้าง คือ การควบต้นทุน ระยะเวลาก่อสร้าง และคุณภาพงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ในส่วนของการควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้าง เราคงเคยได้ยินว่า “งบบานปลายเกินงบที่ตั้งไว้”  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีกระทบตามมาแน่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าของโครงการผู้รับเหมา ดังนั้น เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการก่อสร้างเกินงบประมาณ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้างได้ และแนวทางป้องกันแก้ไขจะเป็นอย่างไรมาดูกันครับ



1.  ขอบเขตงานและความต้องการของเจ้าของ

          ขอบเขตงานและความต้องการของเจ้าของ ถือเป็นต้นน้ำของโครงการ ดังนั้น ในส่วนนี้จึงต้องกำหนดให้ครบถ้วน ชัดเจน และสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในเรื่อง การแก้ไขงาน งานเพิ่ม งานล่าช้า อันจะนำไปสู่ปัญหาการควบคุมต้นทุนและงบประมาณการก่อสร้าง

2. การวางแผนงาน

          ในการวางแผนงานที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง เริ่มตั้งแต่ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การจัดทำขอบเขตงานและความต้องการของเจ้าของ แผนการออกแบบ แผนการจัดทำราคากลาง แผนการจัดซื้อจัดจ้าง และแผนงานก่อสร้าง การวางแผนที่ดี จะช่วยให้ควบคุมระยะเวลา คุณภาพงาน และต้นทุนงบประมาณงานก่อสร้างได้

3. การวางโครงสร้างงาน การกำหนดงานที่จะทำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง Work Breakdown Structure

          ในส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก การวางโครงสร้างการทำงานให้ถูกต้อง ครบถ้วน จะเป็น Checklist ในการติดตามงานให้ครบถ้วนไม่ตกหล่น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมถึงช่วยในการควบคุมต้นทุนงบประมาณการก่อสร้าง

4. การออกแบบ

          การออกแบบจะมีผลโดยตรงต่อต้นทุนและงบประมาณการก่อสร้าง ดังนั้น ในขั้นตอนการออกแบบจะต้องมีการบริการจัดการที่ดีเพื่อให้ได้มาถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบถ้วนตามความต้องการของเจ้าของ มีความคุ้มค่า ก่อสร้างได้จริง เป็นไปตามกฎหมาย มีความแข็งแรงปลอดภัย และที่สำคัญการออกแบบต้องอยู่ในงบประมาณที่เจ้าของกำหนด รวมถึงบำรุงรักษาที่ง่ายค่าใช้จ่ายไม่สูง



5. การประมาณราคา/การจัดทำ BOQ/การทำราคากลาง

          การประมาณราคาและการจัดทำราคากลาง หากจะว่าไปแล้วถือว่าเป็นตัวเอกในการที่ควบคุมต้นทุนเงบประมาณการก่อสร้างเลยที่เดียวก็ว่าได้ ซึ่งการประมาณราคาที่ถูกต้องแม่นยำขอบเขตงานครบถ้วน จะมีผลโดยตรงต่อการควบคุมต้นทุนงบประมาณการก่อวร้างอย่างมาก แต่การประมาณราคาและทำราคากลางที่แม่นยำ ก็จะมาจากขอบเขตงานความต้องการของเจ้าของ แบบ และรายการประกอบแบบที่ถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วนด้วย

6. การจัดซื้อจัดจ้าง

          การจัดซื้อจัดจ้างถือว่าขั้นตอนหลักในงานก่อสร้างที่สำคัญมาก โดยการจัดซื้อจัดจ้างจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกรายชื่อผู้รับเหมา วิเคราะห์คุณสมบัติของผู้รับเหมา การจัดประกวดราคา เปรียบเทียบวิเคราะห์ราคา ทำรายงานสรุป และคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งหากเป็นโครงการขนาดใหญ่มีแบบรายละเอียดที่ซับซ้อน อาจจะใช้เวลามากพอสมควร จึงต้องมีการบริการจัดการให้ดี เพราะหากการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า ได้ราคาที่สูงกว่าต้นทุนงบประมาณ ได้วัสดุไม่มีคุณภาพไม่ตรงสเปค ได้ผู้รับจ้างที่ไม่คุณภาพขาดความชำนาญในงานที่ทำ แน่นอนว่างงานก่อสร้างก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ปัญหาคุณภาพงานไม่สามารถส่งมอบงานได้ ปัญหาความล่าช้า และนำไปสู่ปัญหาการควบคุมต้นทุนราคาในที่สุด ซึ่งในการแก้ปัญหาส่วนนี้ควรเริ่มจากขอบเขตงานและความต้องการของเจ้าขอที่ชัดเจน แบบที่ครบถ้วน ถูกต้องและขัดเจน จากต่อด้วยการจัดหาผู้สำรวจปริมาณงานและราคาที่มีความรู้แประสบการณ์ การทำราคากลางที่แม่นยำ การทำ BOQ ที่ถูกต้องครบถ้วนก็จะช่วยให้การจัดซื้อจัดจ้าง/การประกวดราคาอยู่ในงบประมาณ มีขอบเขตงานครบถ้วนตามความต้องการของเจ้าของ และไม่ต้องมีงานเพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มให้เจ้าของปวดหัวอีก

          นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในการจัดซื้อจัดจ้างการพิจารณาคุณสมบัติของผู้รับเหมา (Pre-Qualification) ถือว่ามีความสำคัญมากในการจัดซื้อจัดจ้าง ที่จะต้องดำเนินการเป็นลำดับต้นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากในการจัดซื้อจัดจ้างและการประกวดราคา แม้ว่าจะได้ราคาจากผู้รับเหมา/ผู้จำหน่ายสินค้าที่อยู่ในงบประมาณแล้ว แต่หากได้ผู้รับเหมา/ผู้จำหน่ายวัสดุ และวัสดุที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน ย่อมจะมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพงานก่อสร้างโดยตรง ทำให้มีผลกระทบตามมาคือ การแก้ไขงาน งานล่าช้า ไม่สามารถส่งมอบงานได้ ค่าเตรียมการและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น 

7.  เทคโนโลยีทีเหมาะสม

          การใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมที่เหมาะสมจะช่วยในเรื่อง ความแม่นยำ ความรวดเร็ว และความถูกต้องในการทำงาน เช่น

          7.1 โปรแกรม BIM (Building Information Modeling) ซึ่งใข้ประโยชน์ตั้งแต่การออกแบบอาคาร การประมาณราคาไปจนถึงการก่อสร้าง โดยโปรแกรม BIM จะสื่อสารทุกฝ่ายให้เข้าใจกันง่ายขึ้น เพราะจะเห็นเป็น 3 มิติ มีความชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมีการนำแบบมาประกอบ Combine กัน เช่น แบบงานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม และงานวิศวกรรมระบบ ก็จะมองเห็นข้อผิดพลาดข้อขัดแย้งได้ชัดเจน ทำให้ลดความผิดพลาด ลดเวลา และลดต้นทุนควบคุมค่าใช้จ่ายงานก่อสร้างได้
          7.2 โปรแกรมควบคุมและจัดเก็บเอกสารต่างๆ ถือว่าเข้ามาช่วยในการเรียบเรียง จัดเก็บ รวมถึงการอนุมัติต่างๆ ให้เป็นระบบ มีความถูกต้องแม่นยำ ลดเวลา ลดต้นทุนและเข้าถึงได้ง่าย
          7.3 การนำโดรนมาใช้ในการสำรวจและตรวจงานก่อสร้าง เช่น การสำรวจจัดทำข้อมูลค่าระดับ การตรวจสอบคุณภาพงานอาคารในที่สูงโดยเฉพาะผิวภายนอกอาคารเพื่อลดความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลากรผู้ตรวจงาน เป็นต้น

8. การก่อสร้าง

          การควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง ควรเริ่มมาจากวัตถุประสงค์ของโครงการ ขอบเขตงานและความต้องการของเจ้าของ การออกแบบ แบบและรายการประกอบแบบที่ถูกต้องชัดเจนครบถ้วน การจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา การคัดเลือกผู้รับเหมา การวางแผน และการบริหารจัดการที่ดี  หากเป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วเชื่อว่าจะสามารถควบคุมคุณภาพ ระยะเวลา และควบคุมต้นทุนงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9. การควบคุมบริหารและติดตามงาน

          หากมีแบบที่ครบถ้วน ชัดเจน มีวัสดุอุปกรณ์ที่ดี มีเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัย มีทรัพยากรบุคคลครบถ้วนพอเพียง แต่ขาดการบริหารควบคุมและการติดตามงาน และการทำ Checklist ที่ดีแล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหาระหว่างทางได้ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมต้นทุนงบประมาณการก่อสร้าง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจเราควรนำระบบ Work Breakdown Structure และการทำ Checklist ในการติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาการควบคุมต้นทุนงบประมาณการก่อสร้าง



บทสรุป

          การควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้าง จำเป็นต้องมีความใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เรื่อง ขอบเขตงานและความต้องการของเจ้าของ การออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา การก่อสร้าง การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ การวางโครงสร้างงาน การทำ Work Breakdown Structure และการทำ Checklist เพื่อติดตามงาน ซึ่งหากทำได้ครบถ้วนจะสามารถควบคุมต้นทุนงบประมาณค่าก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

ติดตามข้อมูลได้ผ่าน Facebook page : TIPS Training หรือ เพจ Propertist และทาง Line Offical : @tipstraining

ผู้เขียน : สุทธิพงศ์ สุรทศ Contract Manager Propertist Co.,Ltd.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้