Last updated: 18 ต.ค. 2565 | 801 จำนวนผู้เข้าชม |
10 ข้อที่ควรทำของที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง
ขออนุญาตต่อจากบทความคราวก่อนนะครับ ที่กล่าวถึงขอบเขตหน้าที่ ความสำคัญของที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง ซึ่งการมีที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง (PM/CM) รวมถึงที่ปรึกษาด้านการบริหารสัญญา ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และผ่านงาน Mega Project เข้ามาเป็นตัวแทนเจ้าของโครงการ จะช่วยให้งานก่อสร้างของโครงการกลมกล่อมราบรื่น โดยมาช่วยวางแผน ให้คำแนะนำ ป้องกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในเชิงป้องกันล่วงหน้า Monitor ติดตามงาน และการควบคุมการปฎิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาข้อตกลง เพื่อให้เจ้าของโครงการมั่นใจได้ว่างานก่อสร้างจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการครับ
วันนี้ เราจะมาคุยกันเรื่อง 10 ข้อที่ควรทำของที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง ไปกันเลยนะครับ
1. ที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง ควรเริ่มเข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่แรกๆ ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ถ้ามี) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกแบบ จัดทำ TOR และการประกวดราคา
2. ควรทำงานเชิงรุก ระวังป้องกันมากกว่าการแก้ไข ได้แก่ การสำรวจพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการมองระวังป้องกันปัญหาและอุปสรรคอันจะเกิดขึ้นในภายหน้า
3. อย่ามองอะไรในแง่ดีไปเสียหมด ควรมองและตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วยนะครับ เช่น เหตุสุดวิสัยต่างๆ อุบัติเหตุ การผิดสัญญา การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ/รายการประกอบแบบ และการบอกเลิกสัญญา เป็นต้น ซึ่งเหตุดังกล่าวไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรหาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การทำงานที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย การทำประกันภัยก่อสร้าง ประกันภัยส่วนบุคคล ประกันภัยวิชาชีพ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องหนังสือค้ำประกันในช่วงเวลาต่างๆ ในความเสี่ยงเรื่องสัญญา ก็จะต้องระบุถึงเอกสารประกอบสัญญา ลำดับความสำคัญของเอกสาร การบอกเลิกสัญญา และการระงับข้อพิพาท เป็นต้น
4. ระบบเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ ต้องพร้อม ครบถ้วนในแต่ละขั้นตอน และจัดเก็บอย่างเหมาะสม
5. การจะทำอะไรควรต้องมีแผน มีขั้นตอน วิธีการ และ Checklist
6. ควรอ่านสัญญา ทำความเข้าใจ และติดตามทบทวนการปฎิบัติให้เป็นไปตามสัญญาอย่างสม่ำเสมอ
7. ทำอะไรก็ควรจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ แม้ว่ากฎหมายไทยจะระบุว่าสัญญาจ้างก่อสร้าง สัญญาจ้างที่ปรึกษา เป็นสัญญาจ้างทำของ เพียงแค่ตกลงกันก็บังคับใช้ทางกฎหมายได้ กล่าวคือ แม้เพียงแค่ตกลงกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงเรื่องการระงับข้อพิพาทด้วย ว่าจะใช้วิธีการใดในการระงับข้อพิพาท เช่น โดยศาลยุติธรรม อนุญาโตตุลาการ หรือการไกล่เกลี่ย เป็นต้น แต่หากคู่สัญญามิได้ทำสัญญาข้อตกลงให้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ก็จะไม่มีอะไรมาพิสูจน์ให้ศาล ผู้ชี้ขาด หรือผู้ไกล่เกลี่ยพิจาณาครับ
8. ในการทำงานควรมีเทคนิคบวกศิลปะในการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน หลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอารมณ์กับผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ และผู้จำหน่ายสินค้า เป็นต้น ซึ่งการปะทะกันด้วยอารมณ์นอกจากจะสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ไม่ดีแล้ว ยังอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือ ซึ่งสุดท้ายก็จะทำงานยากลำบากและเหนื่อยขี้น ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวควรใช้เหตุผล อ้างถึงสัญญาข้อตกลง การหาหลักฐานมาอ้างอิง มีวิธีการทำงานที่ถูกต้อง และการออกเอกสาร/จดหมาย เพื่อติดตามงานและเป็นหลักฐาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และทุกฝ่ายจะให้ความเชื่อมั่น วางใจ และให้ความเกรงใจต่อที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง สุดท้ายก็จะทำงานราบรื่นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
9. เคร่งครัดเรื่องการรายงาน โดยเฉพาะรายงานเรื่อง ความคืบหน้าของงาน และปัญหาอุปสรรค เป็นต้น
10. มีการประชุมติดตามงาน แต่การประชุมควรให้มีเท่าที่จำเป็นครับ
บทสรุป
ที่ปรึกษาควบคุมและบริหารงานก่อสร้าง (PM/CM) ควรจะทำงานในเชิงรุกระวังป้องกันมากกว่าการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ การเตรียมการวางแผนล่วงหน้าที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความครบถ้วนของแบบ ขอบเขตงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แบบฟอร์มเอกสาร ขั้นตอนวิธีการทำงานที่มีมาตรฐาน การป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า การติดตามงาน และการทบทวนสัญญา รวมถึงเทคนิคและศิลปะการสื่อสาร การสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้งานก่อสร้างของโครงการกลมกล่อมราบรื่น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและคู่สัญญาครับ
ติดตามข้อมูลได้ผ่าน Facebook page : TIPS Training หรือ เพจ Propertist และทาง Line Offical : @tipstraining
ผู้เขียน : สุทธิพงศ์ สุรทศ Contract Manager Propertist Co.,Ltd.
17 พ.ย. 2565
10 ม.ค. 2566
9 พ.ย. 2565